วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

วันรุ่นในสมัยนี้

                                                                   วิถีชีวิตวัยรุ่น

          ตามความเห็นของ Aaro Wold, Kannas และ Rimpela (1986) หมายถึง “แบบแผนพฤติกรรม ลักษณะอุปนิสัย เจตคติ และค่านิยมที่มีความคงที่เป็นแบบแผนการดำเนินชีวิตของกลุ่มคน” ส่วน Wenzel (1982) ให้ความหมายวิถีชีวิตของบุคคล หมายถึง “แบบแผนพฤติกรรมตามบรรทัดฐานของสังคมที่เกิดจากกระบวนการขัดเกลาทางสังคม” โดย Wenzel อธิบายต่อไปว่า การทำความเข้าใจวิถีชีวิตของบุคคลใช่เพียงศึกษาเฉพาะพฤติกรรมตามบรรทัดฐานของสังคม  แต่จะต้องศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับค่านิยม และเจตคติของบุคคลอย่างสัมพันธ์กับแบบแผนความเป็นอยู่ เช่น สภาพความเป็นอยู่ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับพฤติกรรมการอยู่อาศัย ตลอดจนทรัพยากรทางวัตถุ และวัฒนธรรมของบุคคลนั้นด้วย

                          พัฒนาการของวิถีชีวิตวัยรุ่น สามารถสืบค้นศึกษาได้จากค่านิยมการดำเนินชีวิตด้านสังคม ด้านการศึกษา ด้านอาชีพการพักผ่อนหย่อนใจและการใช้เวลาว่าง แนวคิดของวิถีชีวิตวัยรุ่นจึงสามารถทำการศึกษาได้จากหลายทิศทางจากการศึกษาในประเทศอังกฤษ (Leo B.Hendry และคณะ, 1989) เสนอว่า การเปลี่ยนแปลงสรีรร่างกาย ทำให้วัยรุ่นต้องกำหนดภาระงานให้กับตนเองเพื่อแสวงหาความสัมฤทธิผลดังนี้
               1. ความสัมฤทธิผลในการเสริมสร้างความมีเกียรติและศักดิ์ศรีของตนเอง
               2. ความสัมฤทธิผลในการเสริมสร้างปรัชญาและค่านิยมของตนเอง
               3. ความสัมฤทธิผลในการเสริมสร้างการปรับตัวเพื่อไปสู่ความอิสระ
               4. ความสัมฤทธิผลในการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับผู้ใหญ่และบุคคลที่มีอำนาจ
               5. ความสัมฤทธิผลในการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อนและกับเพศตรงข้าม
               6. ความสัมฤทธิผลในการเสริมสร้างบทบาทของผู้ประกอบอาชีพ ทั้งที่ไม่ได้รับการจ้าง หรือผู้ทำงานบ้านที่ไม่ได้รับค่าแรง

ผลผลิตในชีวิตวัยรุ่น (Adolescent Outcomes) เกิดจากปัจจัยสำคัญ 2 ประการ
               1. สิ่งแวดล้อมของครอบครัว
               2. ค่านิยมของวัยรุ่น

สิ่งแวดล้อมของครอบครัว
               พ่อแม่ในครอบครัวไทยยังคงให้ลูกหลานรักษาระเบียบวินัย และเชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่ และมักไม่ค่อยให้ลูกมีอิสระมากนัก กล่าวคือ ลูกต้องอยู่ในโอวาท การให้ลูกเป็นศูนย์กลางเพื่อแสดงพฤติกรรมที่เป็นอิสระทั้งการกระทำ และทางความคิดจึงมาจากแนวทางปฏิบัติของพ่อแม่ ดังนั้น การปฏิบัติตนและความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่จึงมีอิทธิพลต่อกระบวนการขัดเกลาให้กับเด็กและวัยรุ่นในสังคมไทย



ค่านิยมของวัยรุ่น
               ค่านิยมของวัยรุ่นเกิดจากกระบวนการขัดเกลาทางสังคม และการอบรมบ่มนิสัยภายในครอบครัว โดยวัยรุ่นจะกระทำในสิ่งที่พึงพอใจ และไม่กระทำในสิ่งที่ตนเองไม่พึงพอใจ พฤติกรรมการแสดงออกของวัยรุ่นจึงเกิดจากอิทธิพล ปัจจัยแวดล้อมในเรื่องความเป็นอิสระส่วนตัว การปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีการเคารพพ่อแม่ และอยู่ในโอวาทเชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่ค่านิยมที่วัยรุ่นยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ และการแสดงออกทางพฤติกรรมของตนเอง ได้แก่ การรู้จักควบคุมตนเองเห็นคุณค่าของค่านิยมดั้งเดิม เช่น การทำบุญประเพณี การไปวัด ไปโบสถ์และมัสยิด พฤติกรรมสนับสนุนเชิงสังคม และการแสดงความเชื่อมั่นด้านความยุติธรรม และความสงบสุข เชื่อมั่นในการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว เห็นคุณค่าความเป็นอิสระโดยการแสดงความสามารถที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างมีเหตุผล
               - มองอนาคตถึงความสำเร็จในด้านความมั่นคง ฐานะตำแหน่ง และสถานภาพที่ดีในสังคม
               - มองความสำเร็จและให้เกียรติกับตนเอง
               - สร้างความเป็นปัจเจกบุคคล (Individualism) โดยการยอมรับ ความรับผิดชอบในการกระทำของตนเอง พอใจที่จะทำงานเพียงลำพังมากกว่าการร่วมเป็นกลุ่ม

ผลการวิจัยเรื่อง “วิถีชีวิตวัยรุ่นไทยในวัยเรียนกับการจัดระเบียบสังคม: กรณีศึกษาจังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดเชียงใหม่ (คัดลอกบางส่วนจากผลการวิจัยของ รศ.ดร.มาฆะ ขิตตะสังคะและคณะ, พ.ศ.2546) ดังนี้



               การพบวัยรุ่นใช้ชีวิตเที่ยวเตร่ตามสถานบันเทิง ผับ ร้านนม และศูนย์การค้าซึ่งวัยรุ่นบางส่วนยอมรับว่าได้ดื่มเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ เคยสูบบุหรี่ เคยทดลองยาเสพติด เคยมีความสัมพันธ์เป็นพิเศษกับเพื่อนต่างเพศ แต่เมื่อสอบถามถึงวิถีชีวิตของวัยรุ่นในด้านการศึกษาเล่าเรียนและเป้าหมายในอนาคตก็ไม่ได้เป็นผลให้ความมุ่งหวังที่จะประสบความสำเร็จซึ่งเป็นเป้าหมายในชีวิตลดน้อยลงไป โดยวัยรุ่นทั้ง 2 จังหวัดต้องการเสริมสร้างฐานะทางเศรษฐกิจ และต้องการความสำเร็จในด้านการเรียนซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการประกอบอาชีพในอนาคต เมื่อรวมความมุ่งหวังทั้ง 2 ประการแล้ว เป้าหมายในชีวิตของวัยรุ่นคือ การมีสถานภาพมั่นคงทางเศรษฐกิจด้านการเล่าเรียนของวัยรุ่นเองได้ประเมินการเล่าเรียนของตนเองและประเมินผลการเล่าเรียนของเพื่อนร่วมชั้นเรียนชี้ให้เห็นว่าวัยรุ่นกลุ่มนี้มีความมั่นใจในสถานภาพการศึกษาเล่าเรียนของตนเองการแยกตัวออกจากบ้านเพื่ออาศัยอยู่ตามหอพักเพื่อความสะดวกในการเรียน แม้จะไกลห่างจากพ่อแม่บ้าง วัยรุ่นยังมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อพ่อแม่ และพี่น้อง ยังรับฟังคำแนะนำและชี้แนะแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ดีจากพ่อแม่ ยังยึดพ่อแม่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวเป็นที่พึ่งทางใจ ยังใช้หลักธรรมะและปฏิบัติตามหลักธรรมะเพื่อพัฒนาจิตใจ แม้บางครั้งจะมีความเครียดและความเหงาการมีเพศสัมพันธ์กับเพื่อนต่างเพศก่อนวัยอันควรมีความเห็นแตกต่างระหว่างจังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดเชียงใหม่อาจเป็นเพราะสาเหตุของการขยายการเติบโตของเมืองที่แตกต่างกัน โดยวัยรุ่นในจังหวัดพิษณุโลกยังคัดค้านไม่เห็นด้วยสูงกว่าวัยรุ่นในจังหวัดเชียงใหม่ แต่วัยรุ่นทั้ง 2 จังหวัดบางส่วนยอมรับว่า การมีเพศสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เป็นเรื่องส่วนตัว ทำให้มีความรักลึกซึ้งและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แต่ถ้าจะจริงจังถึงขั้นการแต่งงานในอนาคตวัยรุ่นมีความไม่มั่นใจสูงกว่าการจริงจังถึงขั้นแต่งงาน



               การทำแท้งจากการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ วัยรุ่นหญิงไม่เห็นด้วยกับการทำแท้งสูงกว่าวัยรุ่นชาย

               นโยบายการจัดระเบียบสังคมได้นำมาใช้ในจังหวะที่มีการเปิดสถานบันเทิง ผับ ศูนย์การค้าและร้านอาหารในพื้นที่ที่เป็นเมืองที่ก่อตั้งสถาบันการศึกษา และขาดการควบคุมการบังคับตามกฎหมาย ทำให้สังคมวิตกกังวลถึงการดำเนินชีวิตของวัยรุ่นด้านการเที่ยวเตร่ และไปสู่การดื่มเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ ทดลองสารเสพติดและสูบบุหรี่มากเกินไปแทนที่จะใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ในด้านการเรียน วัยรุ่นมีความเห็นก้ำกึ่งทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับนโยบายการจัดระเบียบสังคมของรัฐบาล โดยเสนอให้การกำหนดนโยบายของรัฐบาลควรดำเนินการในทางปฏิบัติเป็นไปอย่างจริงจังทั่วถึง เข้มงวดกวดขันสถานบันเทิง และมีมาตรการขั้นเด็ดขาดกับผู้จำหน่ายยาเสพติด ทั้งนี้รัฐบาลจะต้องเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของวัยรุ่นด้วย

               การวิจัยเรื่อง “วิถีชีวิตของวัยรุ่นไทยในวัยเรียนกับการจัดระเบียบสังคม : กรณีศึกษาจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเชียงใหม่” คณะผู้วิจัยได้เสนอแนะให้กับบุคลากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 5 ประการดังนี้

               1. การจัดกิจกรรมนอกหลักสูตร (Extracuricular activity) ในสถาบันการศึกษา กิจกรรมนอกหลักสูตร ได้แก่ กีฬา งานอดิเรก การเข้ากลุ่มกิจกรรม เช่น เกี่ยวกับวิชาการ ด้านภาษา ดนตรี การพัฒนาสังคม การบำเพ็ญประโยชน์สู่ชุมชน ทำให้พัฒนาการของวัยรุ่นพัฒนาในทางที่ดี มีสุขภาพจิตดี ลดความก้าวร้าวแสดงอากัปกิริยาของคุณลักษณะผู้มีมารยาทงดงาม สามารถค้นหาอัตตลักษณ์ของตนเองได้ สามารถสร้างแรงบันดาลใจในการนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายในชีวิต
                    กิจกรรมนอกหลักสูตรเป็นวิถีทางนำไปสู่การปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Social interaction) ที่ดี และทำให้วัยรุ่นมีพฤติกรรมต่อสังคมในทางที่ดี ก่อให้เกิดศักยภาพในการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ดังนี้

                     สร้างความสัมพันธ์กับผู้ใหญ่
                     โดยปกติวัยรุ่นจะคุ้นเคยกับผู้ใหญ่เฉพาะพ่อแม่ เครือญาติผู้ใหญ่และอาจารย์ การมีโอกาสพบปะสร้างความสัมพันธ์กับผู้ใหญ่หรือผู้นำชุมชน ทำให้วัยรุ่นสามารถสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น ไม่เกิดความเครียดเพราะสามารถพูดคุยคลี่คลายปัญหาความอึดอัดคับข้องใจได้ ข้อพึงระมัดระวังในการจัดกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ ไม่ควรให้กลุ่มผู้นำชุมชนแสดงลักษณะการใช้อำนาจ เพราะอาจทำให้วัยรุ่นเกิดความสัมพันธ์ที่ห่างเหิน เกิดความไม่ประทับใจ

                     สร้างความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเพื่อน
                    การจัดตั้งสโมสรเยาวชน การเล่นกีฬาในร่ม กิจกรรมลีลาศเต้นแอโรบิค การจัด Cheerleader การจัดโต้วาที การจัดกิจกรรมฝึกหัดการเป็นผู้ประกอบการขนาดย่อม จะทำให้วัยรุ่นสามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมสถาบันการศึกษา มีความมั่นใจแสดงบุคลิกภาพที่เป็นมิตรและไม่ก้าวร้าวต่อเพื่อน

                   สร้างความสัมพันธ์กับชุมชน
                   การจัดกิจกรรมสู่ชุมชน เช่น การสอนภาษาไทย การจัดกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติ และการซ่อมแซมอาคารเรียนในหมู่บ้านจะทำให้วัยรุ่นเข้าใจสภาพสังคม วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น กิจกรรมการเมือง การปกครองท้องถิ่น ดังนั้น ประสบการณ์ที่วัยรุ่นได้รับมีส่วนสนับสนุนความสัมพันธ์กับกลุ่มต่างๆ จนทำให้วัยรุ่นผ่านเข้าไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่อย่างมีวุฒิภาวะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันมิให้เกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบน หรือส่งผลให้ประกอบยุวอาชญกรรมได้ กิจกรรมสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนจึงเป็นการเสริมสร้างมาตรฐานของสังคมที่มั่นคง ทำให้วัยรุ่นมีโอกาสเรียนรู้ด้วยตนเองเกี่ยวกับพันธสัญญาทางสังคม ( Social contract) และเกิดคุณค่าการเป็นผู้มองโลกในด้านดีกิจกรรมที่วัยรุ่นร่วมกิจกรรมนอกหลักสูตรจึงทำให้มีสุขภาพจิตมั่นคง และเกิดแรงบันดาลใจที่จะกระทำสิ่งใดที่บรรลุผล มีความท้าทายเกิดความตั้งใจสูงในการทำกิจกรรม ทำให้เชื่อมั่นว่าเป็นช่วงการปรับเปลี่ยนเชื่อมโยง (Transitional Play Activity) จากกิจกรรมการเล่นในวัยเด็กอย่างพึงประสงค์ไปสู่ฐานโครงสร้างของกิจกรรมความรับผิดชอบในความเป็นผู้ใหญ่ (Larson และ Csikszentmihalyi, 1986)  กิจกรรมนอกหลักสูตรมิใช่เพียงการสร้างความตั้งใจสนใจในระดับที่สูงขึ้นอย่างเดียว แต่ทำให้วัยรุ่นรู้จักการควบคุมกระบวนการของกิจกรรมให้บรรลุเป้าหมายด้วย ในโครงการกิจกรรม นิสิต นักศึกษาของสถาบันการศึกษาที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เข้าสู่กระบวนการวางแผน การปฏิบัติการตามแผน การติดตามงานและการปรับปรุงกิจกรรมอย่างบรรลุเป้าหมาย ผลที่ได้รับในการเข้าร่วมกิจกรรมทำให้เกิดประสบการณ์เชื่อมโยงระหว่างการกระทำในกิจกรรมหนึ่งไปสู่กิจกรรมอื่นจนสามารถเรียนรู้การควบคุมอารมณ์ที่เกิดขึ้นในลักษณะต่างๆ อย่างกว้างขวางขึ้นกิจกรรมนอกหลักสูตรเป็นกิจกรรมที่นิสิตนักศึกษาสมัครใจเข้าร่วมกิจกรรมด้วยตนเอง จึงเกิดประสบการณ์ที่สามารถควบคุมปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นได้ สามารถทำกิจกรรมอื่นที่กว้างขวางต่อไปได้ เป็นส่วนสำคัญที่เสริมสร้างและพัฒนาไปสู่ทักษะของความเป็นผู้ใหญ่จนสามารถนำไปปรับปรุง และปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมของตนเองได้

               2. การจัดบริการแนะนำให้คำปรึกษา   
               วัยรุ่นเป็นวัยของการปรับเปลี่ยนเชื่อมโยงจากวัยเด็กตอนปลายไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ การปฏิสัมพันธ์กับบุคคลและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทำให้เกิดประสบการณ์ และการเรียนรู้ในสิ่งใหม่ตลอดเวลา จนบางครั้ง บางสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้วัยรุ่นไม่สามารถทำการตัดสินใจด้วยตนเองได้ เกิดความกังวลและความเครียด จำเป็นต้องมีหน่วยงานจัดบริการแนะนำให้คำปรึกษา เช่น การคบเพื่อน การเลือกงานอาชีพ หน่วยงานเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องจัดเป็นเอกเทศ แต่อาจรวมอยู่ในศูนย์บริการสาธารณสุข สโมสรเยาวชนหรือหน่วยกิจกรรมนิสิตนักศึกษา

               3. การจัดสถานที่พักผ่อนหย่อนใจอย่างมีสาระประโยชน์ต่อวัยรุ่น
               เนื่องจากกระแสการจัดระเบียบสังคมตามนโยบายของรัฐบาลได้เริ่มบังคับใช้ตามกฎหมาย ก่อให้เกิดความตื่นตัวในกลุ่มประชาชนทั่วไปที่เห็นว่าเป็นนโยบายที่ดีทำให้สังคมเป็นระเบียบ แต่ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงทางสังคมโดยเฉพาะการติดต่อสื่อสารที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้วัยรุ่นมีวิถีชีวิตตามกระแสการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เช่น แฟชั่นการแต่งกาย การเที่ยวเตร่ในสถานบันเทิง ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่นอกเหนือจากข้อกฎหมายที่ใช้บังคับในสถานบันเทิงต่างๆ แต่เป็นที่ปรากฎว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เริ่มวางกำหนดกฎเกณฑ์ เพื่อให้วัยรุ่นปฏิบัติตามบรรทัดฐานของสังคม เช่น ความเข้มงวดการอยู่ร่วมกันในหอพัก การใช้ระเบียบการแต่งกายในสถานศึกษา กำหนดเวลาในสถานบันเทิง การห้ามเสพสารเสพติดและมั่วสุมในสถานที่ไม่สมควร ประเด็นเหล่านี้ เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว โดยวิสัยของวัยรุ่นย่อมจะแสวงหาสิ่งที่เป็นองค์ประกอบเพื่อการพัฒนาทางอารมณ์และวิถีชีวิตในสังคม สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สังคมโดยรวมต้องร่วมในการเสริมสร้างสถานพักผ่อนหย่อนใจที่เป็นสาระประโยชน์ให้กับวัยรุ่นให้มาก ถ้าจะสำรวจตามเมืองใหญ่อันเป็นที่ตั้งของสถานศึกษาแล้วพบว่า มีน้อยมากและส่วนใหญ่มุ่งไปสู่การประกอบกิจการเชิงธุรกิจเพื่อแสวงหากำไรของผู้ประกอบการเป็นผลทำให้วัยรุ่นต่างแสวงหาความบันเทิงตามสภาพการณ์เท่าที่มีอยู่ในขณะนั้น

               4. การเผยแพร่สื่อและอินเตอร์เน็ต
               ปัจจุบันนี้ทางออกของวัยรุ่นในการใช้เวลาว่างหลังการเรียนมักจะค้นคว้าหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งการเผยแพร่สื่อทางอินเตอร์เน็ต จะมีข้อมูลที่หลากหลายทั้งในด้านบวกและด้านลบ ดังนั้น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ควรมีมาตรการในการควบคุมสื่อที่จะนำมาเผยแพร่นั้นอย่างเหมาะสมเพื่อเป็นผลดีต่อเยาวชนโดยส่วนรวม เพราะสื่อต่างๆ ในปัจจุบันสามารถสร้างค่านิยมที่ถูกต้องและเหมาะสมแก่เยาวชนได้

               5. การสร้างคุณลักษณะการเป็นพ่อแม่ที่ดีของครอบครัวไทย
               สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเอื้ออาทร การสร้างความผูกพันในชุมชนและครอบครัว ได้ยึดถือเป็นธรรมเนียมประเพณีมาโดยช้านาน คุณลักษณะการเลี้ยงดูอบรมบ่มนิสัยเด็กและวัยรุ่นของพ่อแม่ในสังคมไทย จึงไม่ได้กำหนดคุณลักษณะโดยเฉพาะ มีทั้งการให้ความรัก ทะนุถนอมติดตามดูแลอย่างห่วงใย ตักเตือนว่ากล่าวเพื่อให้อยู่ในกรอบวินัยอันดีของสังคม และให้การยอมรับเมื่อลูกประสบความสำเร็จ

               คุณลักษณะทั้ง 4 คุณลักษณะของพ่อแม่ในสังคมไทย ได้แก่ (1) ลักษณะให้การยอมรับ (2) ลักษณะออกคำสั่ง (3) ลักษณะใช้อำนาจโดยพ่อแม่มีอำนาจเด็ดขาด และ (4) ลักษณะติดตามประเมินผล ซึ่งคุณลักษณะทั้ง 4 คุณลักษณะเป็นลักษณะผสม กล่าวคือ โดยลักษณะวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีการอยู่อาศัยร่วมชายคาเดียวกันของพ่อแม่และลูก โดยเฉพาะลูกที่เข้าสู่วัยรุ่นตอนต้นและวัยรุ่นตอนปลาย คุณลักษณะของพ่อแม่ส่วนใหญ่เป็นลักษณะผสมระหว่างการใช้อำนาจ (Autocratic) และลักษณะติดตามประเมิน (Monitoring) เมื่อสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะระบบและโครงสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจทำให้พ่อและแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้น การอยู่ร่วมกันระหว่างพ่อแม่และลูก เพื่อร่วมกิจกรรมภายในครอบครัวในเรื่องการพักผ่อนหย่อนใจ รวมทั้งกิจกรรมการปรึกษาหารือร่วมวางแผนกำหนดเป้าหมายของชีวิตครอบครัวและการสร้างความสัมพันธ์ภายในครอบครัว กิจกรรมเช่นนี้อาจพบว่าลดน้อยลงและยิ่งถ้าลูกต้องออกจากบ้าน เพื่อไปศึกษาต่อในถิ่นที่ห่างไกลบ้าน โอกาสที่จะได้รับความอบอุ่น และการร่วมกิจกรรมความสัมพันธ์ภายในครอบครัวจะยิ่งลดลงตามระยะเวลาการห่างไกล คุณลักษณะให้การยอมรับ (Accepting/engaged) มีกิจกรรมปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ ลูก เช่น ร่วมกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจและการใช้เวลาว่าง เป็นคุณลักษณะดั้งเดิมของวิถีชีวิตในสังคมไทยไม่ว่าสังคมเมืองหรือสังคมชนบทย่อมจะประกอบเป็นครอบครัวขยาย (Extended Family) หรือครอบครัวเดี่ยว (Nuclear Family) คุณลักษณะการยอมรับ และการร่วมกิจกรรมของครอบครัว เป็นคุณลักษณะเชิงวัฒนธรรมที่เด่นชัด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น